จะอยู่หรือจะไป? เมื่อ WeWork เผชิญสถานการณ์กลืนไม่เข้า..คายไม่ออก

Fintech (Thailand) > Fintech blog  > จะอยู่หรือจะไป? เมื่อ WeWork เผชิญสถานการณ์กลืนไม่เข้า..คายไม่ออก

จะอยู่หรือจะไป? เมื่อ WeWork เผชิญสถานการณ์กลืนไม่เข้า..คายไม่ออก

มาแรงๆ กับใต้เตียง WeWork สตาร์ทอัพยูนิคอร์นอันดับ 4 ของโลก จะข่าวดีหรือข่าวร้าย วันนี้มาอัพเดทให้แล้วนะจ๊ะ เดิมบริษัทนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท แต่แต่แต่…ผลประกอบการกลับขาดทุนถึงชั่วโมงละ 6.7 ล้านบาท ความน่ากังวลของนักลงทุนต่อ WeWork นั้นมีอะไรบ้าง?

  1. รูปแบบธุรกิจ Co-Working Space ต้องเช่าพื้นที่ระยะยาว แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะเช่าพื้นที่แค่ระยะสั้น ดังนั้นช่วงเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้ขาดทุนมาก
  2. เอาแน่เอานอนกับประเภทของธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ได้ เพราะธุรกิจ WeWork นั้นคลุมเครือว่าจะเป็นสายเทคโนโลยีหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลต่อความไม่มั่นใจของนักลงทุน
  3. นิสัยแสนเพลย์บอย รักสนุกของ อดัม นอยมันน์ CEO แห่ง WeWork ผู้มีสาวๆ รุมล้อมมากมาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ

WeWork สตาร์ทอัพที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมาย้อนดูงบการเงินของบริษัทล่าสุดปี 2018 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 57,400 ล้านบาท แต่กลับขาดทุน 60,600 ล้านบาท แม้ว่านอยมันน์ จะทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา กลับกันก็ไม่ได้ทำกำไรให้เลย เนื่องจากบริษัทมีอัตราการเผาเงินสูง (Cash burn rate) ซึ่งมีมากถึง 1 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี จากการใช้เงินทุนในการทำสงครามราคาในตลาดสูง จึงขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ทำไมมูลค่าบริษัทกลับมีสูงมากเกินความเป็นจริง?

เนื่องจากมูลค่ากิจการ WeWork ต่ำกว่าคาด ทำให้ทางด้าน SoftBank ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยถือมากถึง 29% กดดันให้ WeWork ยกเลิกการนำบริษัทเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ สถานการณ์ของ WeWork ในตอนนี้จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตกที่นั่งลำบาก เมื่อนักลงทุนต่างสงสัยว่า ทำไมบริษัทซึ่งกำลังเติบโตมีมูลค่าสูงทั้งๆ ที่ขาดทุนถึงชั่วโมงละ 6.7 ล้านบาท นักลงทุนต่างมองว่ามูลค่านั้นเยอะเกินความเป็นจริงหรือป่าว? แล้วทำไมบริษัทต้องเข้ามาในตลาดหุ้น? งบการเงินที่กำลังขาดทุน สามารถเชื่อได้จริง? จึงคาดว่านักลงทุนส่วนมากจะไม่สนใจลงทุนกับ WeWork ซึ่งความไม่มั่นใจของนักลงทุนสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. โครงสร้างบริษัทที่ซับซ้อน ผู้ถือหุ้นต้องการประหยัดทางด้านภาษี
  2. อดัม นอยมันน์ CEO ของ WeWork ได้นำอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองมาให้ WeWork เช่าต่อ
  3. สิทธิในการโหวตของนอยมันน์ที่มากกว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง SoftBank และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ
  4. การขายหุ้น WeWork ของนอยมันน์ ในช่วงขั้นตอน IPO ทำให้นักลงทุนเกิดข้อสงสัย
  5. สภาวะตลาดขาลง จากสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มตลาดปิดแดนลบ นักลงทุนจึงต้องกระจายความเสี่ยงสินทรัพย์ไปยังทางเลือกอื่น
  6. ความไม่เชื่อมันของโมเดลธุรกิจ WeWork

นอกจากนี้ JPMorgan Chase & Co. และ Goldman Sachs Group Inc. ใจปล้ำวางเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 14 หมื่นล้านบาท แต่ผู้ลงทุนทั้ง 2 ฝ่ายต่างกังวลถึงการทำ IPO เนื่องจากการประเมินมูลค่าบริษัทไม่ถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าหาก WeWork ไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว อาจทำให้เป้าหมายการขยายธุรกิจจากการระดมทุนอาจล้มลงทันที…

เพื่อนๆ คงเคยได้ยินข่าวการเข้าตลาดหุ้นของ Uber หลังจาก IPO ไป 1 วัน เดิม Uber มีมูลค่ากิจการจากการเพิ่มทุนสูง แต่บริษัทยังขาดทุนจากการดำเนินงาน เมื่อย้อนดูงบปี 2018 แม้จะมีกำไร ธุรกิจหลักก็ยังขาดทุนอยู่ ราคาหุ้นตกตั้งแต่วันแรก มูลค่าบริษัทจึงลดลงด้วย พร้อมทั้งการเผชิญกับสภาวะตลาดที่ย่ำแย่ บทเรียนนี้มันเจ็บแล้วจำ… นักลงทุนจึงตระหนักถึงความเสี่ยงของมูลค่าหลักทรัพย์ที่เกินมูลค่าที่แท้จริงไปมาก

จับตามอง WeWork IPO หลุมพรางกับดัก “ทฤษฎีคนที่โง่กว่า” (Greater fool Theory)

จากการยื่น IPO ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งแรก ถ้าหากนักลงทุนซื้อสินทรัพย์เพราะเชื่อว่าราคาจะขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อกอบโกยกำไร โดยไม่คำนึงว่าราคาที่ซื้อขายนั้นได้เกินมูลค่าที่แท้จริงไปมาก โดยนักเก็งกำไรหวังว่าจะมีคนที่ช้าและโง่กว่า มาซื้อสินทรัพย์ไปในราคาที่สูงกว่า เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนฟองสบู่ที่ถูกอัดลมเข้าไปมากแล้วเดี๋ยวก็แตกนั้นเอง ดังนั้นสถานการณ์กลืนไม่เข้า คายไม่ออกของ WeWork ที่โดนยกเลิกกลางคันจาก SoftBank แม้จะไปไม่ถึงเป้าหมายในการระดมทุน ซึ่งอาจจะเป็นหนทางที่ดีกว่าในการรักษามูลค่าของบริษัทได้ แต่ก็สูญเสียโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจ คราวนี้เรามารอติดตามข่าวสารอัพเดท WeWork กับน้องคอร์นบนเพจ Fintech Thailand กันนะจ๊ะ

Cr. Bloomberg, Yahoo Finance, The New York Times, Brand Inside

.

.

Follow us on

Line: @fintechthailand

Instagram: fintechthailand