Target Price ใช้ประโยชน์ได้จริงมั้ย ?

Fintech (Thailand) > Algo Trading Forum  > Target Price ใช้ประโยชน์ได้จริงมั้ย ?
a

Target Price ใช้ประโยชน์ได้จริงมั้ย ?

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเป็นนักลงทุนที่ใช้ปัจจัยพื้นฐาน คือการอ่านบทวิเคราะห์และการติดตามผลประกอบการของบริษัทที่เราสนใจ หลายคนอาจตั้งคำถามว่าบทวิเคราะห์หรือ Target Price นั้น มันใช้งานได้จริงหรือ? วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันนะครับ

บทวิเคราะห์ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทในเชิงลึก (ส่วนจะลึกแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความละเอียดของนักวิเคราะห์ และกลุ่มเป้าหมายที่นักวิเคราะห์จะสื่อความไปถึง) โดยที่เราสามารถหาข้อมูลได้หลายอย่างจากบทวิเคราะห์ แต่วันนี้ผมขอพูดถึง 2 อย่าง นั่นคือ
1)Estimated Earnings คือประมาณการผลกำไรต่อหุ้นในอนาคต
2)Target Price คือประมาณการราคาเป้าหมายใน 1 ปีข้างหน้า

Estimated Earnings จะสื่อถึงมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มีต่อการเจริญเติบโตของบริษัท โดยที่เราควรนำไปเทียบกับสิ่งที่บริษัททำได้จริง (Actual Earnings) ส่วน Target Price นั้น ถือเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจลงทุน เพราะนอกจากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับแล้ว ยังช่วยให้เราจัดลำดับความน่าสนใจของหุ้นแต่ละตัวได้อีกด้วย

คำถามคือ เราควรจะใช้ข้อมูลของนักวิเคราะห์ท่านไหนดี ผมมีความเห็นว่าการใช้ค่าเฉลี่ยจากนักวิเคราะห์ทุกท่าน หรือ Analyst Consensus ดูจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด โดยที่ตัวอย่างของเราในวันนี้ คือหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งทยอยประกาศผลกำไรในไตรมาศที่ 3 ออกมาแล้ว มีทั้งที่ดีกว่าและแย่กว่าสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ตามรูปด้านล่าง

Picture 1

ในทางทฤษฎี หุ้นที่มี Positive Earnings Surprise มักจะมีราคาที่สูงขึ้นในช่วงประกาศผลประกอบการ ส่วนหุ้นที่มี Negative Earnings Surprise มักจะมีราคาลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว (แต่ในทางปฎิบัติแล้ว … อาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป! ผมจะหาบทวิจัยมาสรุปให้ฟังวันหลังนะครับ) อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยอย่างเราไม่สามารถหากำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากการใช้ Earnings Surprise สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือการใช้ Target Price เพื่อหาจังหวะซื้อขายหุ้นพื้นฐานดี

นักวิเคราะห์มักปรับ Target Price ในช่วงประกาศผลประกอบการ หรือช่วงที่มีข่าวสำคัญซึ่งกระทบต่อบริษัทนั้นๆ นักลงทุนหลายท่านอาจมองว่านักวิเคราะห์จะปรับ Target Price ตามหลังทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาตลาด (Market Price) อยู่เสมอ ซึ่งดูจากหุ้น SCB ที่เรายกมาเป็นตัวอย่างในกราฟแล้ว … ก็เหมือนจะเป็นจริงตามนั้น! ทั้งนี้เนื่องจากราคาจะสะท้อนข่าวสารออกมาได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่นักวิเคราะห์จะปรับ Target Price หลังจากที่ข่าวสารนั้นเป็นที่รับรู้แล้ว

Picture 2

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้และดูรูปด้านบน เราอาจคิดว่า Target Price เส้นประ เป็นสิ่งที่เคลื่อนที่ตาม Market Price เส้นสีน้ำเงิน และไม่ค่อยมีประโยขน์เท่าไหร่ อย่าเพิ่งครับ! ผมมีวิธีใช้ประโยชน์จาก Target Price มาเสนอ กลยุทธ์ง่ายๆ คือการซื้อหุ้นที่มี %Upside ตั้งแต่ 30% ขึ้นไป และขายหุ้นตัวนั้นเมื่อ %Upside เหลือไม่ถึง 15% (%Upside = Target Price/Market Price – 1) จากรูปด้านบนคือการซื้อหุ้นเมื่อราคาลงมาต่ำกว่าเส้นสีเขียว และขายเมื่อราคาอยู่สูงกว่าเส้นสีส้ม

ถ้าเราย้อนเวลาไปเริ่มต้นลงทุนในหุ้น SCB ตามกลยุทธ์นี้ ตั้งแต่ปี 2007 จะเกิดการซื้อขายขึ้น 10 ครั้ง ได้กำไรถึง 9 ครั้ง ซึ่งมีกำไรเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% ส่วนครั้งที่ขาดทุนนั้นเกิดขึ้นในช่วง Hamburger Crisis ในปี 2008 ซึ่งขาดทุนไปประมาณ 15% เช่นกัน หากเราลงทุนด้วยกลยุทธ์นี้อย่างสม่ำเสมอและมีวินัย ด้วยเงินเริ่มต้น 1 ล้านบาทในปี 2007 เงินของเราจะโตขึ้นเป็น 3 ล้านบาทในปี 2014 ตามตารางด้านล่าง

Picture 3

เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าเราสามารถใช้ % Upside ในการหาจังหวะซื้อขายหุ้นกลุ่มธนาคารได้ ผมจึงทดสอบกับหุ้นธนาคารขนาดใหญ่อีก 2 ตัวคือ KBANK และ BBL ผลที่ได้ก็คล้ายกันกับ SCB ครับ คือได้กำไรทุกครั้งและขาดทุนครั้งเดียวในช่วงปี 2008
เดี่ยวก่อนครับ! อย่าเพิ่งนำวิธีการแบบนี้ไปใช้กับหุ้นตัวอื่นๆ วิธีการหาจังหวะซื้อหุ้นจาก %Upside นี้เหมาะสำหรับหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ที่มีกำไรต่อเนื่อง และมีนักวิเคราะห์หลายรายให้ความสนใจ ในทางกลับกัน หากนำไปใช้กับหุ้นขนาดเล็กที่มีนักวิเคราะห์ไม่กี่รายจัดทำบทวิเคราะห์ ผลที่ได้อาจเกิดการขาดทุนอย่างหนักครับ … การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดหาความรู้ให้เต็มที่ ก่อนการลงทุน สัปดาห์หน้ามาพบกันใหม่ครับ
ชลเดช เขมะรัตนา
CHONLADET  KHEMARATTANA
Chief Executive Officer
FINTECH (THAILAND) COMPANY LIMITED